Back

Pha Sin Teen Jok Hod-Doitao

ซิ่นตีนจกแบบอำเภอฮอดและดอยเต่า มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก เนื่องจากพื้นที่ในสองอำเภอนั้น ในอดีตเป็นแหล่งชุมชนเดียวกัน นักสะสมผ้ามักเรียกซิ่นตีนจกแบบอำเภอฮอดดอยเต่า ว่า “ซิ่นน้ำท่วม” ตามคำเรียกของพ่อค้าผ้าเก่า โดยมีสาเหตุมาจากการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล ในราวพ.ศ. ๒๕๐๑ ทางการได้ประกาศให้ผู้คนอพยพเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่สองข้างแม่น้ำปิง ในบริเวณที่น้ำจะท่วมขึ้นถึง พื้นที่บางส่วนของอำเภอฮอด และดอยเต่า ได้รับผลกระทบนี้ด้วย ชาวบ้านในอำเภอฮอดและดอยเต่าบางส่วนถูกอพยพไปตั้งรกรากใหม่ในนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพลที่รัฐบาลจัดไว้ให้ ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งได้อพยพไปตั้งหลักแหล่งใหม่ในอำเภออื่น เช่น อำเภอแม่แจ่ม จอมทอง สันป่าตอง ไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น ข้าวของเครื่องใช้ที่สำคัญถูกนำติดตัวไปด้วย รวมถึงผ้าซิ่น เมื่อมีพ่อค้าของเก่าไปพบซิ่นตีนจกกับชาวบ้านที่อพยพหนีน้ำท่วมมา จึงเรียกซิ่นเหล่านี้ว่า “ซิ่นน้ำท่วม” และทำให้คนทั่วไปกลับไปเรียกซิ่นตีนจกจากแหล่งเดิมที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วม ว่า “ซิ่นน้ำท่วม” ตามไปด้วย

ในอดีตการเดินทางค้าขายระหว่างเชียงใหม่ กับกรุงเทพอาศัยเป็นแม่น้ำปิงเป็นหลัก ทำให้ชุมชนที่อยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำปิงขยายตัว เป็นชุมชนสำคัญที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจนักเมื่อพบว่าชุมชนในบริเวณอำเภอฮอด ดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏผ้าซิ่นตีนจกตกค้างอยู่อย่างมากมาย เพราะการที่ชาวบ้านคนหนึ่งทอผ้าซิ่นตีนจกออกมาได้นั้น จำเป็นจะต้องมีโอกาสในการเข้าถึงวัสดุฟุ่มเฟือย นำเข้าจากต่างแดนอย่าง เส้นฝ้าย ไหม หรือไหมเงินไหมทอง

ผ้าซิ่นตีนจกผืนนี้ ได้จากอำเภอไชยปราการ แต่เดิมเจ้าของเป็นชาวหมู่บ้านตาล อำเภอฮอด

เป็นซิ่นตีนจกน้ำท่วม ที่มีลักษณะพิเศษเนื่องจากตัวซิ่นทอด้วยเทคนิคมัดหมี่

(สมบัติส่วนบุคคลของ นายวสิน อุ่นจะนำ)

ลักษณะโดยรวมของซิ่นตีนจกกลุ่มนี้ คือ ทอด้วยฝ้ายตะวันตกที่นำเข้าจากพม่า เล็บซิ่นใช้ฝ้ายแดงน้ำมันเส้นเล็กสีแดงสด รูปแบบของลวดลายที่ปรากฏมีความชัดเจน ขนาดใหญ่และดูโดดเด่น อันเกิดขึ้นจากการรักษาช่องว่างระหว่างลายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ยังสามารถมองเห็นท้องจกสีดำได้ชัด โครงสีโดยรวมแม้จะอยู่ในสีวรรณะร้อน อย่างสีเหลือง ส้ม และแดง แต่ก็นิยมใช้สีคู่ตรงข้าม เช่น สีเขียว สีฟ้า ในปริมาณที่ค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน บางครั้งอาจมีสีข้างเคียงที่เป็นตัวกลางเข้าเจือปนหรืออาจใช้สีแท้ที่หม่นหรือจางลง จึงทำให้อยู่กับสีคู่ตรงข้ามได้อย่างกลมกลืน เช่นเดียวกันตัวซิ่นที่ใช้ต่อตีนจก นิยมสีโทนขรึมสุขุม เช่น สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียวเข้ม สีน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งทำให้สีของตัวซิ่นรับกับตีนจกเป็นอย่างดี

ลวดลายที่พบในซิ่นตีนจกตระกูลมีความหลากหลายมาก อันแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของช่างทอ การประดิษฐ์ลวดลายขึ้นใหม่ และการสอดสลับสีสันที่หลากหลาย เป็นการแสดงออกถึงความมีชั้นเชิงทางศิลปะและความรุ่มรวยทางรสนิยม ลวดลายที่พบสามารถแบ่งได้เป็นสามประเภท คือ

– ลายมาตรฐานซึ่งประกอบด้วยลายหลักที่เป็นห้องโคมและลายประกอบขนาบทั้งด้านบนและล่างลายโคมที่สำคัญ เช่น ลายโคมเป็ด ลายโคมนกน้อยบินซอน ลายโคมขันขอเบ็ด เป็นต้น ลายประกอบ เช่น ลายกาบสัก ลายเขี้ยวหมาหลวง ลายอีเนียวซอนทราย เป็นต้น

– ลายกุมหรือลายเครือ หมายถึงลักษณะการนำลายใดลายหนึ่งมาจกต่อเนื่องซ้ำกันไปเต็มพื้นที่หน้าจก ได้แก่ ลายหงส์เครือ ลายกุดกุญแจ ลายโคมหัวขอกุด ลายกุดลาวเอ้ ลายกำปุ่งเต็มหน้า ลายเกล็ดงูเหลื่อม ลายเครือสายฟ้าหล้วง ลายเครือจ้างคุ เป็นต้น

– ลายอิสระ ที่ทอขึ้นจากความพอใจของช่างทอ เช่น ลายโคมหลวง คือ มีเฉพาะลายโคมเต็มหน้าจกโดยไม่มีลายประกอบ ลายสร้อยนกดอกหมาก ลายห้องนกหงส์เครือขอนก เป็นต้น