Back

ผ้า

ดินแดนล้านนา หรือภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเป็นดินแดนที่พบว่ามีผ้าทอพื้นเมืองอยู่ค่อนข้างมากและมีความหลากหลาย ทั้งนี้เนื่องด้วยมีกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งแต่ละกลุ่มชนล้วนรู้จักการทอผ้าเพื่อใช้ประโยชน์ใช้สอยต่างๆ และมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยเหตุนี้ผ้าทอพื้นเมืองที่พบในดินแดนล้านนาจึงมีรูปแบบ เทคนิค และลวดลายที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่นและชาติพันธุ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ หรือภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ

ในอดีตการทอผ้าของล้านนาจะปรากฏมีอยู่ในชุมชนต่างๆ แทบทุกหมู่บ้าน เนื่องจากเครื่องนุ่งห่มเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต จึงเป็นวิถีชีวิตของสตรีชาวล้านนาที่จะต้องรู้จักวิธีการทอผ้า ซึ่งผ้าที่ชาวล้านนาทอขึ้นสำหรับใช้สอยนั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ประเภทแรก เป็นผ้าที่ทอขึ้นสำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวัน ผ้าประเภทนี้จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความประณีตงดงามมากนัก เช่น ผ้าซิ่นที่ชาวบ้านใช้นุ่งสำหรับทำงาน หรืออยู่กับบ้าน มักจะเป็นซิ่นที่ทอจากผ้าฝ้ายเรียบสีเรียบๆ มีลวดลายอย่าง่าย เน้นสีพื้นเป็นหลัก หรือถ้าจะทอเป็นผ้าสำหรับตัดเสื้อที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็จะมีลักษณะเป็นผ้าฝ้ายเนื้อหยาบเพื่อความคงทน โดยอาจมีการย้อมสีด้วยวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ผ้าหม้อห้อมก็จะย้อมสีด้วยใบของต้นคราม เป็นต้น นอกจากเครื่องนุ่งห่มแล้ว ผ้า ยังมีหน้าที่ใช้สอยอื่นๆ เป็นต้นว่า ผ้าขาวม้า ผ้าห่ม และย่าม ก็มักจะทอขึ้นอย่างเรียบๆ แต่บางท้องถิ่นจะมีการทอให้มีลวดลายและสีสันที่สวยงามบ้างก็มี

ส่วนอีกประเภทหนึ่งนั้น เป็นผ้าที่ทอไว้ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น ผ้าสำหรับนุ่งห่ม หรือใช้ในงานบุญ งานเทศกาล และพิธีการสำคัญๆ ซึ่งจะต้องใช้ผ้าที่มีความประณีตงดงามเป็นพิเศษ เพราะการทอผ้าประเภทนี้นอกจากการประกวดประชันกันด้านความประณีตงดงามแล้ว ยังจะต้องสอดคล้องกับความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ ด้วย ในโอกาสพิเศษเหล่านี้ ผู้หญิงในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทอผ้ามักจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีความประณีตงดงามเป็นพิเศษ เช่น ผ้าซิ่นที่สวมใส่อาจเป็นผ้าซิ่นตีนจกที่มีลวดลายและสีสันที่สวยงาม เพื่อแสดงฝีมือของตนเองนอกจากการทอผ้าเพื่อใช้สอยโดยตรงแล้ว ชาวล้านนายังใช้ผ้า และเส้นด้ายมาทำเป็นสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ และประเพณีพื้นบ้านของตนด้วย เช่น การใช้ด้ายหรือผ้าประดิษฐ์เป็นตุง หรือธงเพื่อใช้ในงานประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น

แหล่งผลิตผ้าทอในจังหวัดเชียงใหม่

านผ้าและสิ่งทอ อำเภอสันป่าตอง

วัฒนธรรมการใช้ผ้าและสิ่งทอในอำเภอสันป่าตอง มีลักษณะเฉพาะตัวและมีความพิเศษ เนื่องจากมีการผสมผสานกันทางวัฒนธรรมของชาวไทยวน ไทเขิน และไทยอง แต่จากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบันพบว่า รูปแบบของผ้าและสิ่งทอส่วนใหญ่มีลักษณะใกล้เคียงกับวัฒนธรรมไทยวนมากกว่า เนื่องจากพื้นที่นี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทยวนมาแต่ดั้งเดิม นอกจากนี้ยังเป็นบริเวณใกล้กับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของชาวไทยวน จึงไม่น่าแปลกใจนัก หากจะพบว่าวัฒนธรรมการใช้ผ้าบางประการของชาวไทเขินและไทยอง จะถูกกลืนกลายเป็นแบบไทยวนในที่สุด สิ่งทอที่พบในอำเภอสันป่าตองได้แก่ ซิ่น ผ้าเช็ด ผ้าหลบ ผ้าห่ม หมอน และถุงย่ามเป็นต้น

งานผ้าและสิ่งทอบ้านกาด อำเภอสันกำแพง

เป็นแหล่งที่มีการทอผ้ามาตั้งแต่อดีต กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไทยวนที่เรียกตนเองว่า “คนเมือง” ไทลื้อ ไทยอง ไทเขิน ที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ในเขตอำเภอสันกำแพงล้วนมีฝีมือในการทอผ้าด้วยกี่แบบพื้นเมืองที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากผ้าพื้นแล้วลวดลายที่ทอในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะแตกต่างกันออกไป สำหรับผ้าฝ้ายที่ทอกันในแต่ละครัวเรือนนั้น จะทอเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเป็นส่วนใหญ่ คือใช้สำหรับเป็นเครื่องนุ่งห่ม เช่น ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า โสร่ง และถุงย่าม หรือเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่มนอน รวมทั้งมีการทอและย้อมจีวรสำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์ และผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมด้วย เช่น ตุง และผ้าห่อคัมภีร์ เป็นต้น โดยฝ้ายนั้นจะมีปลูกในบางท้องที่ และจะมีการปั่นฝ้ายใช้เองในทุกครัวเรือน เส้นฝ้ายที่ใช้ทอชนิดนี้เรียกว่า “ฝ้ายเมือง”