Back

เครื่องปั้นดินเผา

การทำเครื่องปั้นดินเผาในดินแดนล้านนานั้นได้ปรากฏหลักฐานมานับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สืบทอดมาจนกระทั่งถึงสมัยหริภุญไชย แต่เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้เป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินธรรมดา ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้เองภายในชุมชนหรือท้องถิ่นของตนเท่านั้น ส่วนการทำเครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อแกร่งทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบนั้น น่าจะเริ่มมีการผลิตขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โดยเชื่อว่ามีช่างชาวจีนเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาให้สูงขึ้น ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ล้านนามีความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง การผลิตเครื่องปั้นดินเผาจึงเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการภายใน รวมทั้งผลิตขึ้นเพื่อเป็นสินค้าส่งไปจำหน่ายให้แก่เมืองอื่นๆ โดยมีแหล่งผลิตขนาดใหญ่อยู่ด้วยกัน ๓ แหล่ง คือ แหล่งเตาสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งเตาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย (นับรวมแหล่งเตาวังเหนือ จังหวัดลำปาง) และแหล่งเตาเมืองพาน จังหวัดเชียงราย เทคนิคการปั้นขึ้นรูปเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบพื้นเมืองตั้งแต่สมัยโบราณ และยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นการปั้นหรือขึ้นรูปทรงด้วยมือ ซึ่งนับว่าเป็นกรรมวิธีที่เก่าแก่ที่สุดในการทำเครื่องปั้นดินเผา ก่อนที่จะมีเครื่องมือชนิดอื่นๆ มาช่วยในการปั้น แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาในเชียงใหม่

แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาในเชียงใหม่

แหล่งเตาสันกำแพง อำเภอสันกำแพง

เป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบแหล่งใหญ่ของล้านนา ที่พบซากเตาเผากระจัดกระจายอยู่ในเขตพื้นที่ ๕.๐๐ -๕.๕๐ ตารางกิโลเมตร โดยมีกลุ่มเตากระจายอยู่ ๘ กลุ่ม ได้แก่ เตาห้วยป่าไร่ เตาห้วยบวกบิ่น เตาดอยโตน เตาห้วยปู่แหลม เตาทุ่งโห้ง เตาต้นแหน เตาต้นโจก และเตาเหล่าน้อย ซึ่งผลิตภัณฑ์ของแหล่งเตานี้มีอยู่หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ชาม จาน ถ้วย พาน ขวด หรือแจกัน ไหปากแคบ ไหปากบานขนาดใหญ่ ตะเกียง ตะคัน หรือผางประทีบ ตุ๊กตารูปสัตว์ดินเผา และพระพุทธรูปดินเผา เป็นต้น โดยภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาสันกำแพงจะมีลักษณะของการประดับตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์อยู่หลายประเภทดังนี้ ประเภทเคลือบสีเขียว ประเภทเขียนลายสีดำและน้ำตาลใต้เคลือบ ประเภทเคลือบสีน้ำตาล ประเภทเคลือบสองสี

แหล่งผลิต อำเภอหางดง

ประกอบด้วย ๔ แหล่ง คือ

  • บ้านเหมืองกุง ตำบลหนองควายเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นจะเป็นภาชนะประเภทหม้อน้ำ และคนโทเป็นส่วนมาก ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาดังกล่าวจะมีรูปแบบเฉพาะเป็นของตนเอง เป็นที่รู้จักและเรียกขานกันในท้องถิ่นว่า “หม้อเงี้ยว” และ “น้ำต้นเงี้ยว” ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง นับเป็นงานศิลปะพื้นบ้านที่กำเนิดขึ้นจากทักษะฝีมือในท้องถิ่น และผลิตขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสนองต่อกิจกรรมทางประเพณีและวัฒนธรรม รูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมที่ผลิตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ได้แก่ น้ำต้น และน้ำหม้อ ซึ่งเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำดื่ม หม้อประเภทต่างๆที่ใช้ในการประกอบอาหาร ตลอดจนวัสดุก่อสร้างอย่างเช่น อิฐ และดินขอ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ช่างปั้นบ้านเหมืองกุงมีความชำนาญเป็นที่รูจักและยอมรับ คือ น้ำต้น และน้ำหม้อ มีการพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงาม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเหมืองกุง ต่อไปคือบ้านป่าตาล ตำบลสันผักหวานจะมีความแตกต่างจากเครื่องปั้นดินเผาที่เหมืองกุง เพราะจะทำเครื่องปั้นดินเผารูปแบบเป็นรูปตัวการ์ตูน รูปสัตว์ เป็นทั้งของตกแต่งและกระถางดอกไม้ ภายในหมู่บ้านจะมีการทำในลักษณะเช่นนี้กว่า 20หลังคาเรือน การจัดจำหน่ายจะคล้ายกันคือจัดจำหน่ายที่ศูนย์จำหน่ายสินค้าหรือตามหมู่บ้านที่จัดเป็นศูนย์วิสาหกิจชุมชนและส่งออกไปยังกรุงเทพมหานคร (ตลาดนัดจตุจักร) โรงแรม เกสต์เฮ้าส์ตามต่างจังหวัด
  • เครื่องปั้นดินเผาบ้านกวน ตำบลหารแก้วจะมีลักษณะที่แตกต่างจากเหมืองกุง คือ การขึ้นรูป เพราะลักษณะการขึ้นรูปของเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวนคือ “การเดินวน” ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผารูปแบบของหม้อน้ำ หม้อต้ม หม้ออุ๊บ ภาชนะสำหรับหุงต้มอาหาร เช่นหม้อต่อม หม้อแกง และหม้อสาว และบ้านใหม่ ป่าจี้ ตำบลน้ำแพร่ เป็นการรวมตัวของคนในชุมชนที่มีการทำเครื่องปั้นดินเผาที่คล้ายกับบ้านป่าตาล ที่มีแนวทางด้านรูปแบบเป็นรูปตัวการ์ตูน รูปสัตว์ต่างๆ แต่จะทำในลักษณะที่จะตัวใหญ่กว่าบ้านป่าตาล
  • แหล่งเครื่องปั้นดินเผา อำเภอแม่ริม การปั้นดินเผาจะเป็นในรูปแบบ “โฮงกระถาง” และมีการปั้นเป็น เทพ ตุ๊กตา สาวชุดไทย แต่ที่เด่นชัดจะเป็นเรื่องของกระถาง
  • แหล่งเครื่องปั้นดินเผา อำเภอสารภี อยู่ที่บ้านน้ำล้อม ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี ประกอบไปด้วย ๓ แห่ง ด้วยกันที่ผลิตเตาอั้งโล่ส่งขายยังพ่อค้าคนกลาง ที่จะมาสั่งและมารับไปขายเอง หรือลูกค้าที่เข้ามาสั่งโดยตรง