Back

งานโลหะ

เครื่องโลหะแบ่งได้เป็นสองชนิดที่พบในเขตจังหวัดเชียงใหม่ได้แก่
เครื่องเงิน และเครื่องทองเหลือง

แหล่งผลิตเครื่องเงินที่พบในจังหวัดเชียงใหม่มีทั้งหมด ๒ แหล่ง คือ “ชุมชนบ้านวัวลาย” และ “บ้านศรีสุพรรณ” ถือได้ว่าเป็นแห่งผลิตเครื่องเงินแหล่งใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ที่มีการทำเครื่องเงินผลิตภัณฑ์เครื่องเงินของชุมชนบ้านวัวลายและบ้านศรีสุพรรณในอดีต มักนิยมทำสลุง (ขัน) เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการทำผลิตภัณฑ์เครื่องเงินอีกหลายประเภท เช่น พานหรือขันดอก ตลับใส่ของ หีบหมาก เครื่องเชี่ยนหมาก และเครื่องประดับเป็นต้น สำหรับลวดลายที่ปรากฏอยู่บน สลุงเงินของบ้านวัวลาย เป็นลวดลายที่มีลักษณะเฉพาะและถือว่าเป็นลายแบบพื้นเมืองเชียงใหม่ “ชุมชนบ้านแม่ย่อย” เป็นชุมชนที่ผลิตเครื่องเงินอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ แต่เป็นแหล่งผลิตที่มีขนาดเล็กและมีช่างทำเครื่องเงินอยู่ไม่มากนัก เนื่องจากเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองจึงไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก การผลิตเครื่องเงินที่บ้านแม่ย่อยได้ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมทีชาวบ้านจะทำเครื่องเงินเพื่อใช้เองในครัวเรือน หรือเพื่อถวายให้แก่วัด รวมถึงจำหน่ายให้กับชุมชนในบริเวณใกล้เคียง ผลิตภัณฑ์เครื่องเงินของบ้านแม่ย่อยแต่ดั้งเดิมจะทำเป็นขันหรือสลุง ซึ่งมีลักษณะคล้ายสลุงแบบพม่าของบ้านวัวลายแต่จะมีฝาปิด ส่วนลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านแม่ย่อย คือกลุ่ม “ลายแม่ย่อย” เป็นลายที่ชาวบ้านแม่ย่อยได้คิดทำขึ้นจึงตั้งชื่อลายตามหมู่บ้าน

แหล่งผลิตเครื่องทองเหลือง หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า “คัวตอง” ถือเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีความงดงามอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งชาวล้านนาไม่ค่อยนิยมเครื่องมือเครื่องใช้ หรือเครื่องประดับที่ทำจากทองเหลืองเท่าใดนัก แต่โดยมากแล้วมักจะพบงานทองเหลือง หรือคัวตองที่ใช้สำหรับเป็นเครื่องประดับตกแต่งอาคารศาสนสถานแหล่งผลิตเครื่องทองเหลืองในจังหวัดเชียงใหม่พบอยู่ ๑ แหล่ง คือ ชุมชนวัดพวกแต้ม อำเภอเมือง เป็นชุมชนช่างฝีมือมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีการผลิตเครื่องทองเหลืองหรือที่เรียกกันว่า “คัวตอง” รูปแบบต่างๆทั้งที่เป็นงานพุทธศิลป์ สำหรับประดับตกแต่งอาคาร ศาสนสถาน และที่เป็นงานหัตถศิลป์เช่น เช่น พุ่มดอกไม้เงิน พุ่มดอกไม้ทอง ฉัตร และ สัปทน เป็นต้น สำหรับเป็นเครื่องประดับจะเป็นงานดอกไม้ไหว ที่นำไปใช้ในงานฟ้อนรำ ที่เรียกว่าฟ้อนเล็บ