Back

เครื่องเขินบ้านนันทาราม เมืองเชียงใหม่

ผศ. ฐาปกรณ์ เครือระยา : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลับแม่โจ้

เครื่องเขินคือภาชนะที่ทำมาจากไม้ไผ่ เคลือบด้วยยางรัก และตกแต่งด้วยชาด (หาง) หรือทอง ตัวภาชนะมีความบาง ผิวสัมผัสจะมีความเรียบเนียน เครื่องเขินได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภูมิเอเชียอาคเนย์ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ในเชียงตุงจะเรียกว่า “ยวนเถ่” หมายถึง เครื่องใช้ของคนยวน ซึ่งเป็นกลุ่มช่างที่ถูกส่งตัวไปอาศัยอยู่ที่เมืองเชียงตุงในสมัยพญามังราย ส่วนที่ชุมชนนันทาราม เป็นแหล่งผลิตงานเครื่องเขินแบบขูดลายเพียงแห่งเดียวในภาคเหนือของประเทศไทย ชุมชนแห่งนี้เดิมทีเป็นชาวไทเขินที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองเชียงตุงในสมัยพระเจ้ากาวิละ เป็นกลุ่มช่างที่มีความชำนาญในการทำเครื่องเขิน ในอดีตเรียกว่า “คัวฮักคัวหาง” แต่เมื่อได้รับอิทธิพลจากสยาม จึงเกิดการนิยามชื่อเรียกใหม่ว่า “เครื่องเขิน” โดยในยุคสมัยนั้นมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเครื่องเขินให้ตรงความความต้องการของผู้บริโภคจากทางภาคกลางอีกด้วย

เครื่องเขินนันทารามมีส่วนประกอบหลักอยู่ 3 อย่าง คือ ไม้ไผ่ ยางรัก และชาด (หาง) ส่วนขั้นตอนการผลิตก็ประกอบด้วย 3 กระบวนการหลัก คือ การขึ้นโครงสร้างของภาชนะ การทายางรัก และการขูดลาย เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวนี้แล้ว จึงนำภาชนะมาถมด้วยชาด ดังรายละเอียดต่อไปนี้

การขึ้นโครงสร้างภาชนะ
การทายางรัก
การขูดลาย หรือในภาษาท้องถิ่นเรียนว่า “ฮายลาย ฮายดอก”
การผลิตเครื่องเขินภายในเมืองเชียงใหม่จะมีการแบ่งปันขั้นตอนการผลิตไปให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ตามความชำนาญ เรียกวิธีการนี้ว่า “ฝีปั๋นฮ่อม”

ลวดลายที่ใช้ในการประดับตกแต่งเครื่องเขินนันทาราม ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ลวดลายดอกไม้ เช่น ลายดอกใหญ่ ลายดอกน้อย ลายบานใบ เป็นต้น ส่วนประกอบหลักของลวดลาย ได้แก่ ดอกจี๋ ดอกหุบ ดอกบาน ใบ เงาะ นอกจากลวดลายดอกไม้หรือพันธุ์พฤกษาแล้ว ยังนิยมใช้ลายสัตว์ เช่น นกยูง ช้าง นก งู เสือ เป็นต้น ยุคต่อมายังนิยมการขูดลายตราสัญลักษณ์ ข้อความ หรือชื่อของบุคคลลงบนเครื่องเขินเพื่อมอบเป็นของที่ระลึกเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เมื่ออิทธิพลของสยามได้เผยแพร่เข้ามายังเชียงใหม่ ก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ลายรดน้ำ หรือลายทอง ตามความนิยมของคนทางภาคกลาง เช่น ลายเทพพนม ลายพันธุ์พฤกษา ลายดอกโบตั๋น ลายดอกพุดตาน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องใช้ของชนชั้นสูง