Back

ศศิธร มงคลเรืองฤทธิ์ : แม่ครูผู้ยึดมั่นในวิถีเครื่องเขินโบราณ

“จะถูกหรือแพงมันอยู่ที่ว่าคนเห็นคุณค่าของมันแค่ไหน” ศศิธร มงคลเรืองฤทธิ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม และครูศิลป์ของแผ่นดิน ประเภทเครื่องรัก (เครื่องเขิน) กล่าวถึงมุมมองมูลค่าของงานหัตถศิลป์เครื่องเขินโบราณที่นับวันนับหาผู้สืบสานได้ยากยิ่ง

“เงินทองคือมายา คุณค่าคือของจริง”

ภายในร้านกึ่งที่อยู่อาศัยนอกจากผลงานชิ้นใหญ่ อย่าง “หีบผ้าใหม่”หีบบรรจุผ้าซึ่งในอดีตชายชาวล้านนาจะนำติดตัวเข้าพิธีแต่งงาน พร้อมออกเรือนไปอยู่เป็นฝั่งฝากับฝ่ายเจ้าสาวแล้ว ยังมีขันโตกสีดำขลับ มันเงาและแวววาวระยับด้วยลวดลายเขียนทองวิจิตรบรรจงชวนหลงใหล แม่ครูไล้มือสัมผัสพื้นผิวผลงานพลางนึกย้อนไปถึงวันวานแห่งความภาคภูมิใจ

“ครั้งหนึ่งป้าเคยไปจัดแสดงงานที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี แล้วมีลูกค้าซึ่งเขาว่ากันว่าเป็นนายกมาจากเมืองจีนเดินผ่านบูธ ท่านหยุดมองงานป้าอยู่ครู่หนึ่ง แล้วเหมือนจะชอบใจชุดขันโตกแบบเดียวกันนี้ จึงชี้ให้ลูกน้องมาสอบถามราคา ชุดนั้นป้าตั้งไว้แสนห้า ท่านซื้อแบบไม่ต่อรองราคาสักคำ ก่อนสั่งให้ลูกน้องรีบขนกลับเมืองจีน” แม่ครูเล่าด้วยรอยยิ้มแย้ม

ทว่าด้วยต้นทุนวัสดุอย่างรักและทองคำเปลวที่หายากและราคาแพง อีกทั้งมีกระบวนการทำกว่า 13 ขั้นตอน ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญและประณีตพิถีพิถัน จึงทำให้งานเครื่องเขินโบราณในปัจจุบันนั้นค่อนข้างมีราคาสูง หากเทียบกับงานเครื่องเขินสมัยใหม่ที่ใช้พลาสติกสีฝุ่น สีน้ำมันและสีอะคริลิคทดแทน ตลอดจนการเข้ามาของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนจากพลาสติก อลูมิเนียม และสแตนเลส งานหัตถกรรมดั้งเดิมประเภทนี้จึงขายยากและขาดแคลนช่างฝีมือ

“ทำเสร็จก็เก็บไว้ บางทีมีลูกค้าจากกรุงเทพฯ ที่เขาติดตามเพจเฟสบุ๊คของป้าติดต่อขอขึ้นมาดูมาอุดหนุนบ้าง พอเขาจะมาป้าก็หยิบออกจากตู้มาทำความสะอาด เครื่องเขินลงรักแค่เช็ดถูเบาๆ มันเงางามเหมือนใหม่”
หลังว่างเว้นจากกิจวัตรทำธุรกิจน้ำดื่มบรรจุขวด แหล่งรายได้หลักของครอบครัวที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต แม่ครูศศิธรก็จะชักชวนน้องสาวมานั่งทำเครื่องเขิน งานรองที่หล่อเลี้ยงจิตใจเก็บไว้รอผู้ที่เห็นคุณค่ามารับช่วงไปดูแลรักษา พร้อมทั้งเก็บไว้ให้ลูกหลานได้เห็นฝีมือของคุณย่าที่ยึดมั่นสืบสานมรดกภูมิปัญญาและตั้งใจทำขึ้นมาด้วยความรัก