Back

เชียงใหม่เมืองหัตถกรรมสร้างสรรค์

“สืบสานคุณค่าหัตถศิลป์ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ฉบับเชียงใหม่”

ขณะที่หลายคนกำลังลุ้นเอาใจช่วย Project ผลักดันเชียงใหม่สู่มรดกโลก ที่กำลังอยู่ในช่วงระหว่างปรับปรุงแก้ไขเอกสารให้เสร็จสมบูรณ์ ก่อนส่งต่อให้ทางองค์การยูเนสโก (UNESCO) พิจารณาภายในปีนี้

รู้หรือไม่ว่ามีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งน่าตื่นเต้นยินดีไม่แพ้กัน นั่นคือการที่เชียงใหม่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์กรยูเนสโก” (UNESCO Creative Cities Network) สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ขององค์การยูเนสโก เป็นเมืองที่ 2 ของไทย ต่อจากจังหวัดภูเก็ต  ที่ได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร

นอกจากนี้ในโครงการยังมีเมืองต่าง ๆ กว่าอีก 185 เมืองทั่วโลก ที่ร่วมเชิดชูคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ รวมทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ ดนตรี สื่อศิลปะ หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ภาพยนตร์ อาหาร งานออกแบบ และวรรณกรรม ซึ่งกว่าที่จะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกเมืองจะต้องผ่านเกณฑ์ข้อตกลง ที่เป็นดังคำมั่นสัญญาว่าจะมุ่งส่งเสริมพัฒนาเมืองสู่  “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์”  อันเป็นหัวใจสำคัญของเครือข่าย ด้วยการลงมือปลุกปั้นสภาพแวดล้อม  และภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมให้เอื้อต่อการทำงานสร้างสรรค์  เตรียมความพร้อมในด้านปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ที่จะเอื้ออำนวยความสะดวก  แก่ผู้ประกอบธุรกิจสร้างสรรค์ รวมถึงนำความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาต่อยอดยกระดับเมืองสู่  Creative City  ควบคู่กับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ยกตัวอย่างโมเดลที่น่าสนใจอย่าง เมืองโปปายัน ประเทศโคลัมเบีย ที่มีการสร้างห้องสมุดและศูนย์วิจัยเกี่ยวกับอาหาร ก่อตั้งองค์กร  Gastronomy Corporation of Popayan   ซึ่งรับผิดชอบการจัดประชุมเกี่ยวกับอาหารในระดับประเทศ (National Gastronomy Congress) รวมถึงร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของโคลัมเบีย  Universidad del Cauca ในการศึกษาวิจัยด้านวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมของเมือง การขับเคลื่อนโครงสร้างหลัก  และภาพลักษณ์ในการเป็นเมืองวัฒนธรรมแห่งอาหารเหล่านี้  ชัดเจนขึ้นมาเมื่อโปปายันได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์  ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ https://en.unesco.org/creative-cities/node/92

เช่นเดียวกันกับ  เมืองโกเบแหล่งผลิตเหล้าสาเกแหล่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น  และศูนย์กลางธุรกิจของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่มากมาย เมื่อได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์  ด้านการออกแบบแล้ว  ก็ส่งผลให้เมืองพลิกโฉมสู่เมืองศูนย์กลางแห่งแฟชั่น  ชั้นนำของประเทศ  มีการร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเทศกาล Fashion WeekและKobe Biennale  ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น  ตลอดจนมีสถาบันด้านการออกแบบ  Kobe Design University  คอยส่งเสริมรากฐานอันเข้มแข็งให้กับแนวทางสร้างสรรค์ของเมือง  ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ https://en.unesco.org/creative-cities/kobe

ย้อนกลับมามองดูเชียงใหม่กันบ้าง รู้หรือไม่ว่าเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 720 ปีแห่งนี้นั้นรุ่มรวยด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน” ที่มีอยู่ด้วยกันถึง 9 สาขา ทั้งการปั้นและหล่อ การทอและเย็บปักถักร้อย การแกะสลัก การจักสาน การก่อสร้าง การเขียนหรือการวาด การทำเครื่องกระดาษ การบุดุนโลหะ รวมถึงเครื่องเขิน ซึ่งความน่าสนใจอยู่ที่งานหัตกรรมของเชียงใหม่เหล่านี้ล้วนมีส่วนผสมของ 3 มิติแห่งการสร้างสรรค์ อย่างงานหัตถกรรมที่พัฒนาการมาจากรากเหง้าทางวัฒนธรรม งานอุตสาหกรรมหัตถศิลป์ และงานหัตถกรรมร่วมสมัยอย่างลงตัว มนต์เสน่ห์และอัตลักษณ์อันโดดเด่นนี้ ได้จุดประกายให้คนกลุ่มหนึ่งมองเห็นโอกาสในการหยิบจับทุนทางวัฒนธรรม อันเปี่ยมล้ำคุณค่ามาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนเศรษฐกิจชุมชนด้วยความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่กับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2556

 “โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านขององค์กร UNESCO”

จึงริเริ่มขึ้นโดยการนำขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยบรรดาช่างฝีมือ  คนรุ่นใหม่และกลุ่มชาติพันธุ์  ที่มีอัตลักษณ์งดงามเชิงหัตถศิลป์  โดยมีหมุดหมายสำคัญ  ในการสนับสนุนและผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน  เป็นกุญแจสำคัญเสริมสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมืองให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง  ตามแนวทางของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์  ขององค์การยูเนสโก ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เวิร์กช็อป “ก่อร่างสร้างลาย (เซรามิค)-ขูด ขีด เขียน แกะ พิมพ์”  ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้อันเป็นเอกลักษณ์ของงานเครื่องปั้นดินเผา (เซรามิค) ในเขตล้านนา,  สัมมนานานาชาติ “Chiang Mai Crafts and Folk Art Forum 2015”  งานจุดประกายให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์ พัฒนา และการจัดการหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน  ในระดับนานาชาติ,  นิทรรศการ “พลวัตอาภรณ์ แห่งนครเชียงใหม่” บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมือง  ผ่านสีสันและเส้นสายของเครื่องแต่งกายตามยุคสมัย

หรือล่าสุดอย่าง “Chiang Mai Crafts Fair 2018” เทศกาลจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับมนต์เสน่ห์ของผืนผ้าท้องถิ่น ที่ชวนนักออกแบบรุ่นใหม่ มาระดมไอเดียออกแบบผลงาน  ร่วมกับพ่อครูแม่ครูช่างทอผ้าจากชุมชนต่าง ๆ พร้อมด้วยกิจกรรมอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหาแนวทาง  ยกระดับคุณค่าและมูลค่าของงานหัตถกรรมสิ่งทอ ด้วยพลังสร้างสรรค์และความร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองอย่างรู้คุณค่า

ทำให้เชียงใหม่ในวันนี้ประสบความสำเร็จในก้าวแรกของการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์  ขององค์การยูเนสโก  สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน  ทว่าเหนือความภาคภูมิใจ คือ ดอกผลที่กำลังเบ่งบาน เมื่อทิศทางของงานหัตถกรรมภูมิปัญญา  ได้คืนกลับมาผสานสู่วิถีร่วมสมัย อุ้มชูคุณภาพชีวิต ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เปรียบเสมือนแหล่งรายได้สำคัญของเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืน