Back

กระเป๋าเป้รักษ์โลก สานต่อคุณค่าจากหัตถกรรมพื้นบ้าน

จากสถานการณ์ขยะพลาสติกที่กำลังเป็นวิกฤติ จึงผุดไอเดียสร้างสรรค์ “Sustainable Backpack” กระเป๋าเป้รักษ์โลกที่ชวนผู้คนหันมาตระหนักถึงปัญหามลพิษขยะพลาสติก

จากสถานการณ์ขยะพลาสติกที่กำลังเป็นวิกฤติคุกคามสิ่งแวดล้อม Aishwarya Nair นักออกแบบสาวแดนภารตะจึงผุดไอเดียสร้างสรรค์ “Sustainable Backpack” กระเป๋าเป้รักษ์โลกที่ชวนผู้คนหันมาตระหนักถึงปัญหามลพิษขยะพลาสติก ความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมจุดประกายมุมมองใหม่ในการต่อยอดวัสดุท้องถิ่นและหัตถกรรมพื้นบ้าน สู่การออกแบบอย่างยั่งยืน

โดยเป้ใบนี้ประกอบขึ้นจากวัสดุย่อยสลายง่ายตามธรรมชาติ แถมยังผ่านกระบวนการผลิตที่ใส่ใจในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยฟังก์ชั่นที่ออกแบบมาให้ตอบโจทย์กับการใช้สอยในชีวิตประจำวัน อาทิ การบุภายในกระเป๋าและช่องใส่แล็ปท็อปด้วยแผ่นยางธรรมชาติจากเส้นใยกาบมะพร้าวเพื่อรองรับแรงกระแทกและระบายอากาศ มีโครงสร้างหลักจากไม้ไผ่อันแข็งแรง ทนทาน พร้อมหยิบจับงานไม้ไผ่สานมาสร้างเป็นแผงรองแผ่นหลังซึ่งช่วยการกระจายน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ส่วนสายสะพายและหูหิ้วทำจากกาบกล้วยเหลือทิ้ง เช่นเดียวกับการประดับตกแต่งลวดลายด้วยหนังธรรมชาติจากใบปาล์มที่เป็นขยะเกษตรกรรมจำนวนมาก นอกจากนี้ยังผสมผสานวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น ผ้าปอกระเจา และ Shittal-Patti ภูมิปัญญาหัตถกรรมสิ่งทอที่มีความยืดหยุ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

อันที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ Aishwarya Nair ก็เคยพัฒนาชุดอุปกรณ์ท่องเที่ยวพกพาแบบใช้แล้วทิ้งจากกาบกล้วยและผักตบชวา อย่าง ผ้าปิดตาเวลานอนพักผ่อน ผ้าปิดจมูกป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์ และหูฟังลดเสียงรบกวน ซึ่งผลงานเหล่านี้คงจะพอกระตุกต่อมคิดให้หลายคนที่เคยมองข้ามวัสดุท้องถิ่น อันเป็นรากฐานสำคัญของงานศิลปหัตถกรรม ได้หันกลับมามองโอกาสและเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่าย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ หากเรารู้จักนำความคิดสร้างสรรค์มาปรับประยุกต์อย่างเข้าใจ ก็สามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของหัตถกรรมพื้นบ้านได้อย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว