Back

“แอ่วชุมชนหัตถกรรม”

Craft Community Tour แอ่วชุมชนหัตถกรรม

สถานที่ : ชุมชนพวกแต้ม ชุมชนศรีปันครัว ชุมชนป่าบง และ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วิทยากร : รศ.ดร.วรลัญจก์บุณยสุรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พระครูปฏิภาณธรรมพิศิษฎ์ เจ้าอาวาสวัดพวกแต้ม
อาจารย์ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ลักษณะกิจกรรม

กิจกรรมในครั้งนี้ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 การทัศนศึกษาในชุมชนหัตถกรรม ได้แก่ ชุมชนช่างในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ ชุมชนพวก แต้ม ที่ทำงานดุนทองเหลือง ซึ่งเรียกว่า “คัวตอง” และชุมชนทำเครื่องเขินที่บ้านศรีปันครัว และชุมชนทำ เครื่องจักสานในอำเภอสารภี คือ ชุมชนป่าบง เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของกระบวนการทำงาน หัตถกรรม และทราบถึงแหล่งผลิตงานหัตถกรรมภายในเมืองเชียงใหม่ และนำความรู้จากการเรียนรู้มา พัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงใหม่ และการประยุกต์งานหัตถกรรมมาใช้ในวิถีแบบใหม่

ชุมชนพวกแต้ม

ชุมชนพวกแต้ม อยู่ในเขตอนุรักษ์ของเมืองเชียงใหม่ ชื่อของชุมชนนี้ปรากฏในใบลาน เมื่อปีพุทธศักราช 2363 หรือ เมื่อ 193 ปี ที่ผ่านมา ในสมัยของพระยา ธรรมลังกา (พ.ศ.2356 – 2364) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลำดับที่ 2 โดยชื่อของวัดมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้สร้างวัด ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นช่าง โดยคำว่า “พวก” หมาย ถึง หัวหน้าหมู่ซึ่งเป็นขุนนาง “แต้ม” หมายถึง การเขียนลวดลาย ดังนั้นวัดนี้จึงสัมพันธ์กับขุนนางที่มีหน้าที่ควบคุมทางด้านงานช่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงรักปิด ทอง อันเป็นการสร้างลวดลายในการประดับตกแต่ง ซึ่งสอดคลองกับการบอกเล่า ซึ่งต่อมาชุมชนได้ทำงานทองเหลือง อันเป็นสาขาหนึ่งของงานช่าง และสืบทอดมา ตราบปัจจุบัน

ชุมชนศรีปันครัว

เครื่องเขิน (LACQUERS WARES) เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นภาชนะรูปทรงต่างๆ ที่เกิดจากการขดหรือสาน ไม้ไผ่ ให้ได้รูปทรงตามต้องการ จากนั้นนำมาเคลือบด้วยยางรัก เพื่อให้ภาชนะมีความคงทนแข็งแรงมากขึ้น แล้วจึงตกแต่งโดยการเขียนลวดลายด้วยชาด หรือการขูด ลาย และบางครั้งยังมีการประดับด้วยทองคำเปลว หรือเงินเปลวด้วย ซึ่งภาชนะเครื่องเขินนี้จะมีชื่อเรียกรวมๆ ในภาษาพื้นเมืองว่า “คัวฮักคัวหาง” หรือ “เครื่องฮัก เครื่องหาง” หรือ “เครื่องฮักเครื่องคำ” ขึ้น อยู่กับลักษณะของประดับตกแต่ง ว่าตกแต่งด้วยขาดหรือทองคำเปลว และเรียกชื่อภาชนะแต่ละชนิดไปตามหน้าที่การ ใช้สอย เช่น ขันดอก ขันหมาก ขันโอ หีบผ้า แอ๊บ อูบ หรือปุง ส่วนชื่อเรียก “เครื่องเขิน” นั้น สันนิษฐานว่าเป็นคำเรียกที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยเรียกไปตามชื่อของ กลุ่มชนชาวไทเขิน หรือ ไทขิน ที่มีความชำนาญในการผลิตภาชนะเครื่องใช้ประเภทนี้ บ้านศรีปันครัว ตำบลท่าศาลา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเพียงไม่กี่ชุมชนที่ยังมีการทำเครื่องเขินทั้งแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์ เช่น “ขันแดง” ภาชนะทรงกลม ใช้ในพิธีกรรมและการตกแต่ง รวมถึงยังมีการขึ้นรูปทรงเป็นภาชนะแบบต่างๆ เช่น พาน ตะลุ่ม ขันหมาก หีบผ้า ขันโตก และ ขันโอ เป็นต้น แต่เนื่องจากในปัจจุบัน วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องเขินทั้งรักและชาดนั้นค่อนข้างหายากและมีราคาสูง ดังนั้นชาวบ้านศรีปันครัวจึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุสมัยใหม่ เช่น สีน้ำมัน และ สีพลาสติกทดแทน

ชุมชนบ้านป่าบง

บ้านป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่ทำงานหัตถกรรมประเภทเครื่องจักสานที่เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เดิมบ้านป่าบงเป็นพื้นที่มีต้นไผ่บง เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้มีการนำมาแปรรูปและผลิตเป็นเครื่องจักสาน ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมภายในชุมชนที่พบ ได้แก่ ตะกร้า สวิง เปี๊ยด เป็นต้น ปัจจุบันสินค้า เครื่องใช้ของชุมชนป่าบงได้ถูกส่งไปยังอำเภอต่างๆ เพื่อเพิ่มเติมเทคนิคต่างๆ เช่น ส่งไปยังตำบลหนองควาย อำเภอหางดง เพื่อลงสี ส่งไปยัง ตำบลหารแก้ว อำเภอ หางดง เพื่อออกแบบตกแต่งเพิ่มเติมให้ตรงกับความนิยมของกระแสตลาด ก่อนที่จะส่งไปยังศูนย์หัตถกรรมบ้านถวาย อำเภอหางดง เพื่อจําหน่าย

คำว่า “เครื่องจักสาน” นั้นเป็นคำที่เรียกขึ้นตามกรรมวิธีในการผลิตที่ทำให้เกิดเป็นภาชนะ ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการที่ประกอบด้วยการ “จัก” และ “สาน”

“จัก” คือ การนำวัสดุมาทำให้เป็นเส้น เป็น แฉก หรือ เป็นริ้ว เพิ่อความสะดวกในการสาน การจักถือได้ว่าเป็นขั้นตอนแรกของการเตรียมวัสดุในการทำเครื่อง จักสาน ลักษณะของการจักโดยทั่วไปนั้นขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาจักแต่ละชนิด โดยจะมีวิธีการเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป เช่น วัสดุที่นำมาจักให้เป็นริ้วนั้นเป็นไม้ไผ่ หรือ หวาย จะเรียกว่า “ตอก” ซึ่งชุมชนป่าบงนี้แทบทุกครัวเรือนมีฝีมือในการจักสานอย่างน่าสนใจ

การจักตอกไม้ไผ่โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ จักตามแนวไม้ไผ่โดยมีผิวไม้เป็นส่วนแบน จะเรียกว่า “ตอกปิ้น” ส่วนอีกลักษณะหนึ่งเรียกว่า “ตอกตะแคง” ตอกชนิดนี้จะจักโดยมีผิวไม้เป็นส่วนสัน ตอก นอกเหนือจากตอกไม้ไผ่สองลักษณะนี้แล้ว อาจจะมีตอกที่จักให้เป็นเส้นกลม หรือ ลักษณะอื่นๆ ตาม ความต้องการที่จะนำตอกชนิดนั้นๆ ไปใช้ ดังนั้น การจักตอกจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนแรกในการทำ เครื่องเขิน เพราะลักษณะของตอกจะต้องประสานกับลวดลาย และรูปทรงของภาชนะเครื่องจักสานนั้นด้วย เช่น การสานส่วนก้นของภาชนะ จะต้องใช้ตอกปิ้นแบนๆ เพื่อให้เกิดลายสานที่เป็นแผ่ตามแนวราบ มีความ คงทน สามารถวางบนพื้นราบได้ และสะดวกต่อการสร้างรูปทรงของภาชนะส่วนที่อยู่ถัดจากส่วนก้นขึ้นไป หรือตอกสำหรับสานส่วนของภาชนะบริเวณที่เป็นคอ หรือส่วนที่คอดจำเป็นจะต้องใช้ตอกเส้นเล็กๆ ที่มี ความละเอียด เพื่อความสะดวกในการสานให้ได้รูปทรงตามต้องการ เป็นต้น

การสานนั้นถือได้ว่าเป็นกระบวนการทางความคิดที่สร้างสรรค์ ลักษณะของการสานเริ่มแรกจะ เป็นการสานไปตามแนวราบโดยใช้วัสดุขัดกันไปมาอย่างง่ายๆ ตามแบบที่เรียกว่า “ลายขัด” ด้วยการยกขึ้น เส้นหนึ่งและกดลงเส้นหนึ่งให้เกิดการขัดกัน ทำให้วัสดุคงรูปต่อเนื่องกันไปเป็นพื้นที่มากขึ้นตามความ ต้องการ และจากการสานด้วยลายขัดตามแนวราบมนุษย์ก็ได้พัฒนาการสาน เพื่อตอบสนองความต้องการ ด้านประโยชน์ใช้สอยจึงเกิดเป็นภาชนะขึ้นมา โดยอาจจะสานลายขัดนั้นเข้ากับแม่แบบเพื่อให้เกิดเป็นรูป ทรงของภาชนะ แม่แบบสำหรับสานภาชนะนั้นอาจจะเป็นเปลือกผลไม้ หรือเครื่องปั้นดินเผาก็ได้

งานจักสานบ้านป่าบงได้พัฒนาลวดลายการสาน ทั้งโดยเจตนาและเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ทำให้ได้ เครื่องจักสานที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละบ้าน มีรูปทรงน่าใช้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้สอยที่เปลี่ยนไป ตามสมัยนิยม

ประสบการณ์ที่ได้รับ

อาจารย์ยุทธศักดิ์ ฉัตรแก้วนภานนท์ (ภาควิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่) กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้ไปร่วมกิจกรรมศึกษาดูงาน “แอ่วชุมชนหัตถกรรม” Tourism Crafts & Cultural Branding Workshop : Chiang Mai City of Crafts and Folk Art Initiative ทำให้ เกิดความรู้ ความเข้าใจในแง่มุมของการท่องเที่ยวในชุมชนที่มีศิลปะและหัตถกรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใน ส่วนของกิจกรรมการออกเยี่ยมชุมชนต่างๆ ได้แก่ ชุมชนพวกแต้มคัวตอง ชุมชนเครื่องเขินศรีปันครัว ชุมชน จักสานป่าบง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ เน้นส่งเสริมให้สังคมมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา สืบทอด มรดก ทางศิลปวัฒนธรรมและงานหัตถกรรมพ้ืนบ้านในจังหวัดเชียงใหม่

การท่องเที่ยวในชุมชนก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรม ซึ่งการเยี่ยมชมชุมชนต่างๆ นั้น เป็นกิจกรรมรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรม (Handicraft Tourism) ซึ่งการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้มีการให้ความหมายว่า เป็นการท่องเที่ยวไปยังชุมชนที่มีการทำงาน หัตถกรรม โดยมุ่งเน้นเพื่อการสร้างประสบการณ์ตรงให้แก่นักท่องเที่ยว จากการได้สัมผัสการทําหัตถกรรม ในสถานที่จริงและบรรยากาศจริง จากช่างในชุมชนผู้สืบสานงานหัตถกรรมของท้องถิ่นนั้นๆ

กิจกรรมการท่องเที่ยวไปชมงานหัตถกรรมยังชุมชนต่างๆ นั้น นอกจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เห็น ขั้นตอนการผลิตงานหัตถกรรมแล้ว ยังได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังผลิตเพื่อออกวางจำหน่ายสู่ท้องตลาด ซึ่งการ ได้เห็นขั้นตอนการผลิตในสถานที่จริง ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความตระหนักถึงคุณค่า และต้องการ สนับสนุนชุมชน เพื่อเป็นของฝาก ของที่ระลึกทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว แม้ว่าสินค้าที่ทําการผลิตอยู่ในชุมชน ขณะนั้น จะเป็นสินค้าที่มีการสั่งชื้อหรือสั่งผลิตล่วงหน้าเพื่อวางจำหน่ายภายนอกชุมชน ซึ่งยังอยู่ในขั้นการ ผลิตที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่กลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมเมื่อสัมผัสกับกระบวนการทำงานในท้องถิ่นแล้ว ต่าง ต้องการซื้อสินค้าหัตถกรรมจากชุมชนแหล่งผลิตจริง มากกว่าตามงานแสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือถนนคนเดินวันอาทิตย์ ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งภายในพื้นที่และนอกพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อนักท่องเที่ยวเห็นขบวนการผลิตสินค้าหัตถกรรมแล้วและต้องการซื้อสินค้าหัตถกรรมเหล่านั้น ใน กระบวนการซื้อนั้นขายการต่อรองราคาแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งต่างจากการซื้อสินค้าในลักษณะเดียวกันที่ถนนคน เดิน หรือตามงานแสดงสินค้าหัตถกรรมต่างๆ ซึ่งเหตุผลที่ได้คือ บรรยากาศ สถานที่ และประสบการณ์ที่ได้จากการ สัมผัสขบวนการผลิตทําให้ผู้ชื้อรู้สึกถึงคุณค่าของตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น จึงทําให้ไม่รู้สึกอยากต่อราคาสินค้านั้นๆ ซึ่งต่าง จากการไปซื้อสินค้าที่ตลาดนัดชุมชน ถนนคนเดินและสถานที่จัดจําหน่าย ที่ไม่ได้เห็นขั้นตอนกระบวนการผลิต โดยตรง ที่ผู้ซื้อไม่ได้รวมเอาประสบการณ์หรือคุณค่าของกระบวนการผลิตสินค้าไปรวมอยู่ด้วย การต่อรองราคาจึง เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะสินค้าประเภทศิลปะและหัตถกรรมจากชุมชน ซึ่งผู้ซื้อคิดว่าควรจะมีต้นทุนต่ํา จากการเข้าใจ ว่าชุมชนทําเป็นอาชีพเสริม

จากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น การท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมควรมีการปรับเปลี่ยนไปสู่การท่องเที่ยวเพื่องาน ศิลปะและหัตถกรรมท้องถิ่น (from Handicraft Tourism to Souvenir Tourism) ซึ่งการ่องเที่ยวลักษณะนี้ จะเน้น ไปที่การเอาตัวผลิตภัณฑ์งานศิลปะและหัตถกรรมเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังชุมชน โดยผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ท้องถิ่นเป็นตัวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปถึงแหล่งที่ผลิตสินค้าโดยตรง นักท่องเที่ยวจะได้เลือกชมสินค้าผลิตภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการดูกระบวนการผลิตงานหัตถกรรมนั้นๆ

ลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของการท่องเที่ยวเพื่องานศิลปะและหัตถกรรมท้องถิ่น คือ การมุ่งเน้นไปที่การไป ชม ศึกษาและเลือกชื้อผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเฉพาะถิ่นให้กลายเป็นจุดประสงค์หลักของการเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชน แหล่งผลิตสินค้า และการได้สัมผัสกับกระบวนการผลิต ที่ทําให้เกิดประสบการณ์และการสร้างคุณค่าของนักท่องเที่ยว ต่อตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งกระบวนการนี้จะทําให้สินค้าหัตถกรรมเปลี่ยนจากแค่ Product ไปเป็น Souvenirs

ผลที่ชุมชนได้รับ คือ การสร้างรายได้การชื้อขายโดยตรงของนักท่องเที่ยว จากที่นักท่องเที่ยวเคยซื้อสินค้า จากงานมหกรรมสินค้าพื้นเมืองในรูปแบบต่างๆ (ส่วนมากเน้นราคาถูก) แล้วค่อยมาเที่ยวดูแหล่งผลิตในลักษณะของ การมาชมพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ซึ่งชุมชนแทบไม่ได้อะไรโดยตรงจากการท่องเที่ยว นอกจากคําชม และการผลิตสินค้า ราคาถูกส่งขายงานแสดงสินค้าหัตถกรรมต่อไป ไปสู่การได้รับประโยชน์โดยตรงจากการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวเพื่องานศิลปะและหัตถกรรมท้องถิ่น จะประสบความสําเร็จได้ก็ต่อเมื่อต้องตั้งอยู่ บนแนวคิด ที่เน้นความสําคัญของผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และมีการผสมผสานจุดมุ่ง หมายของการอนุรักษ์กระบวนการผลิตงานหัตถกรรมเพื่อคงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน โดยให้ความสําคัญต่อ ความรู้สึกและประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวต่อตัวผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต แหล่งที่ผลิต ดังนั้นการท่องเที่ยวเพื่อ งานศิลปะและหัตถกรรมท้องถิ่นจึงเป็นการต่อยอดจากการท่องเที่ยวในชุมชน ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ รวมถึงการ จัดการทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและการสร้างเศรษฐกิจชุมชน นอกจากนี้แล้ว หากทุกชุมชนผลิตและจําหน่ายงาน หัตถกรรมของชุมชนตนเองโดยตรงแก่นักท่องเที่ยว จะทําให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน มีการผลิตงานที่มีความ เป็นเอกลักษณ์และมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ไม่เกิดการลอกเลียนแบบกันและกันดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนที่ 2 การอบรมสัมมนา และ Workshop ภายใต้แนวคิด Cultural Branding โดยมุ่งเน้นตัวอย่างงานหัตถกรรมและชุมชน เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ในการนํา มาต่อยอดแนวทางด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนางานหัตถกรรมของเมืองเชียงใหม่ควบคู่กันไป และสร้างแรงบันดาล ใจให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในการผลักดันเมืองเชียงใหม่สู่เมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านต่อไป ในการ Workshop มีการนํา แนวคิด Cultural Branding กับการนําอัตลักษณ์ของงานหัตถกรรมท้องถิ่นสู่การประยุกต์ใช้ในงานออกแบบ โดย อาจารย์ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ (อาจารย์ประจําภาควิชา ออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) และเรื่องทุนทางวัฒนธรรมสู่คุณค่าในงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดย รศ. ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ได้กล่าวถึง ทุนทางวัฒนธรรม คือ มรดกภูมิปัญญา ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ที่มีความหมายหลากหลายประเภทซึ่งล้วนแล้วยังประโยชน์ให้กับประเทศชาติทั้งสิ้น หากเปรียบเทียบว่าภูมิปัญญาเป็นเสมือนต้นทุนใน การผลิต ทุนทางวัฒนธรรม อาจจะหมายความได้ว่า ต้นทุนที่สะสมจากบรรพชน มาจากกระบวนการคิด กระบวนการประดิษฐ์ กระบวนการสร้างงาน เพื่อนํามาใช้ใน การพัฒนาผลงานให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติสืบต่อมา

การนําทุนทางวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้ในงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน สามารถสร้างจุดเด่น โดยนําทักษะทางงานฝีมือ มาผสานองค์ความรู้จากรากเหง้า ทางวัฒนธรรม รวมถึงความเข้าใจการใช้วัสดุจากท้องถิ่น สามารถสร้างคุณค่าให้กับผลงานนั้นๆ ควบคู่ไปด้วย คุณค่าที่เกิดขึ้นแสดงออกมาให้เห็นถึงรูปแบบของการ ผลิต เทคนิควิธีการสร้างสรรค์ การถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะอย่างยาวนาน กว่าดอกและผลทางศิลปวัฒนธรรมจะเจริญงอกงามสู่ สายตาให้เราประจักษ์รู้ถึงความเพียรพยายามในการอนุรักษ์ รักษา รวมถึงพัฒนางานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของไทยตราบจนทุกวันนี้

งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของเชียงใหม่ มีความโดดเด่นหลากหลาย ซึ่งแต่ละประเภทนั้น ได้มีการผสมผสานความรู้ในการผลิต ความคิดสร้างสรรค์และ การประยุกต์วัสดุท้องถิ่น อันเป็นจุดกําเนิดของทุนทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อคุณค่าในงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน รวมถึงธรรมชาติและภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเมือง เชียงใหม่ ที่สามารถนํามารวมและหล่อหลอมเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน