Back

ผ้าซิ่นตีนจกเชียงใหม่

กิจกรรมครั้งที่ 1 ให้ความรู้เรื่องผ้าซิ่นตีนจกเชียงใหม่
วัน/เวลาจัดกิจกรรม : วันเสาร์ ที่ 30 กรกฎาคม 2559
สถานที่ : หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จำนวนผู้เข้าร่วมอบรม : 54 คน

เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญของล้านนา ภายใต้การปกครองของเจ้านายเชื้อเจ็ดตน ก่อนที่จะถูกรวมให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และประเทศไทยในปัจจุบันการที่เมืองเชียงใหม่มีประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางสังคมมาอย่างยาวนาน ทำให้มีการสั่งสมเอกลักษณ์ทางด้านประเพณีวัฒนธรรมที่เด่นชัด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การแต่งกาย เอกลักษณ์การแต่งกายที่สำคัญของผู้หญิงชาวเชียงใหม่ คือ “ผ้าซิ่น”

ผ้าซิ่นที่ผู้หญิงชาวเชียงใหม่ในอดีตนิยมเป็นอย่างมาก มี 2 ชนิด คือ “ซิ่นตา”และ ”ซิ่นตีนจก” อันเป็นรูปแบบผ้าซิ่นที่สืบทอดมาอย่างยาวนานของชาวไทยวน ผ้าซิ่นโดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น ส่วนหัวซิ่น เป็นส่วนที่อยู่ด้านบนสุดของผ้าซิ่น ตีนจก โดยทั่วไปมักประกอบขึ้นจากผ้า 2 ชิ้น คือ ผ้าสีขาวและสีแดงเย็บต่อกัน บ้างครั้งก็อาจเป็นผ้าสีแดงหรือสีดำเพียงชิ้นเดียวส่วนตัวซิ่นส่วนใหญ่เป็นลายขวางลำตัว เรียกว่า ลาย “ต๋า” หรือ “ก่าน” ส่วนตีนซิ่นจะเป็นผ้าทอธรรมดาสีแดงเข้ม สีน้ำตาล หรือดำ หากเป็นซิ่นตีนจก ส่วนนี้จะเป็นผ้าที่ทอด้วยเทคนิคจกสลับสีเส้นไหม ไหมเงิน และไหมคำเป็นลวดลายอย่างงดงามซิ่นตีนจก นับเป็นศิลปะพื้นบ้านที่แสดงถึงความละเอียดประณีต และความมีรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ทอเอง นอกจากนี้ลวดลายตีนจกในแต่ละท้องที่ ก็จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นผลมาจากรสนิยมการรับรู้สุนทรียภาพทางความงามที่แตกต่างกันออกไปหรืออาจเป็นผลมาจากวัสดุที่ใช้ทอในแต่ละท้องที่ต่างกัน ผ้าซิ่นตีนจกที่ปรากฏหลงเหลือหลักฐานให้ได้เห็นอยู่ในปัจจุบันของจังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏในตัวเมือง หรือเวียงเชียงใหม่ อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอดและอำเภอดอยเต่า

รูปแบบของผ้าซิ่นตีนจกในเวียงเชียงใหม่นี้อาจสันนิษฐานได้จากตัวอย่างผ้าที่ตกทอดในทายาทตระกูล ณ เชียงใหม่ ตระกูลคหบดีเชียงใหม่ และที่ได้มีผู้เก็บสะสมส่วนตัวหลายท่าน โดยรูปแบบเป็นผ้าซิ่นที่ประกอบด้วยหัวซิ่นสีขาว แดง หรือดำ ทำจากผ้าฝ้ายโรงงานเนื้อดีของอังกฤษ บางครั้งเป็นผ้าพิมพ์ลาย หรือกำมะหยี่ ตัวซิ่นมีทั้งที่เป็นฝ้ายและไหม ไหมที่ใช้ทอเป็นไหมน้อยจากประเทศจีน เส้นเล็กบางแต่เหนียวมากบางคนเรียกว่า “ไหมหยุ้มเดียว” เพราะสามารถรวบผ้าไหมทั้งผืนให้มาอยู่ในกำมือเดียวได้ ในผ้าซิ่นของสตรีชั้นสูงในราชสำนักเชียงใหม่ยังพบว่า มีตัวซิ่นลักษณะพิเศษอีกแบบหนึ่ง คือ ตัวซิ่นเป็นลายขวางสลับกับจกลายดอกไม้ขนาดเล็กเรียงเป็นแถว ซึ่งจะต้องใช้ไหมทองในการทอทั้งผืน ซึ่งตัวซิ่นลักษณะดังกล่าวนี้ ต้องอาศัยความชำนาญในการทอเป็นอย่างสูงและใช้วัสดุมีค่าจำนวนมาก ทำให้ปรากฏตัวอย่างในปัจจุบันน้อยมาก ตัวซิ่นลักษณะนี้ยังปรากฏในภาพถ่ายเจ้าหญิงอุบลวรรณาอีกด้วยส่วนบริเวณเชิง หรือที่เรียกว่า “ตีนจก” ทอขึ้นจากเส้นไหมเนื้อละเอียด หากไม่เป็นไหมล้วน ก็มักจะพุ่งด้วยเส้นไหม ทอด้วยเทคนิคจก แทรกไหมสีต่าง ๆ ไหมเงิน ไหมทอง แล่ง หรือกระดาษทองพันกับฝ้ายลวดลายจกมีลักษณะคล้ายคลึงกันแทบทุกผืน เรียกได้ว่าเป็นแบบมาตรฐาน คือ มีลายหลักเป็นลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ที่เรียกว่า “โคม” ลายโคมมีขนาดใหญ่อย่างเห็นได้ชัด มีลายประกอบด้านบน 2 แถว และด้านล่าง 1 แถว มักเป็นลายนกคู่กินน้ำร่วมต้น ปิดท้ายด้วยลายเชิง เรียกว่า “หางสะเปา” สีดำล้วน ซิ่นตีนจกแบบจารีตมักมีพื้นส่วนเชิง เรียกว่า “เล็บซิ่น” เป็นสีแดง

ต่อมาได้เกิดค่านิยมแต่งกายด้วยสีเดียวกันทั้งชุดในปลายรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 7 ทำให้เกิดเล็บตีนจกหลากสี เช่น เล็บสีน้ำเงิน สีม่วง สีบานเย็น สีเขียว เป็นต้น ซึ่งเล็บซิ่นนี้จะต้องเข้าเป็นสีเดียวกันกับตัวซิ่น ที่ได้ทอเตรียมไว้ก่อนลักษณะผ้าซิ่นตีนจกแบบเวียงเชียงใหม่นี้ เรียกได้ว่าเป็นแบบมาตรฐานของผ้าซิ่นตีนจกของเจ้านายล้านนา

จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้มีผู้เข้าอบรมที่สนใจ ในการให้ความรู้เรื่องผ้าชิ่นตีนจกเชียงใหม่ ซึ่งผู้เข้าอบรมมีทั้งผู้ที่มีความรู้ทางด้านผ้าซิ่นตีนจก จนถึงผู้ที่ไม่เคยมีความรู้ทางด้านผ้าซิ่นตีนจกเชียงใหม่ แต่ให้ความสนใจในเรื่องผ้าซิ่น ได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของผ้าซิ่นตีนจกทั้งแหล่งที่ผลิต กระบวนการทอผ้า ตลอดจนเทคนิควิธีการในการทำผ้าซิ่นตีนจก เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำผ้าซิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม กับยุคสมัยปัจจุบัน และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

กิจกรรมครั้งที่ 2 สร้างแรงบันดาลใจในก ารออกแบบผลิตภัณฑ์ จากผ้าซิ่นตีนจกเชียงใหม่
วัน/เวลาจัดกิจกรรม : วันอาทิตย์ ที่ 31 กรกฎาคม 2559
สถานที่ : หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จำนวนผู้เข้าร่วมอบรม : 54 คน

ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้จากวิทยากรมารังสรรค์เป็นผลงาน ที่ยังคงรากเหง้าของงานหัตถกรรมโดยในกิจกรรมนี้ได้ให้โจทย์ ที่เป็นผ้าชิ่นตีนจกแม่แจ่มให้กับผู้เข้าอบรมได้นำมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ของงานหัตถกรรม เพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่า และ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ประชาชน ซึ่งผู้เข้าอบรมได้มีการสร้างสรรค์ผลงานออกมาที่แสดงถึงตัวตน มีทั้งการออกแบบเครื่องประดับ การออกแบบแฟชั่น รวมถึงของประดับตกแต่งภายในที่อยู่อาศัย โดยยังคงอัตลักษณ์ของผ้าซิ่นแม่แจ่ม